โพสเมื่อ 2009-10-06 00:31:30 โดย benz1709

ผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าว : การเพิ่มมูลค่าแก่ผลผลิตข้าว
ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยมาเป็นเวลานาน และเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ โดยไทยเป็น ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการผลิตและการส่งออกข้าว ต้องประสบปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของระดับราคา และการแข่งขันจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าว
อุตสาหกรรมการแปรรูปข้าว นับเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยเหลือเกษตรกร โดยช่วยเพิ่มความต้องการข้าว เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวนานาชนิด เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตข้าว ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออก และนำมาซึ่งรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวที่สำคัญในปัจจุบัน มีหลายรูปแบบ ดังนี้
|
- ผลิตภัณฑ์ข้าวกึ่งสำเร็จรูป เช่น โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป หรืออาหารจานเดียวประเภทข้าวแช่แข็งในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ข้าวผัด ฯลฯ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะในตลาดที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ ข้าวกระป๋อง ซึ่งมีจุดเด่นที่สามารถเปิดรับประทานได้ทันที อีกทั้งสามารถเก็บรักษาได้นานถึง 2 ปี นับเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่เป็นกรณีตัวอย่างของการพัฒนาธุรกิจ อุตสาหกรรม ขนาดย่อมที่ประสบความสำเร็จ และได้รับการยอมรับ จากประเทศต่างๆ ตลาดส่งออกข้าวกระป๋องที่สำคัญ ได้แก่ ยุโรป และ ตะวันออกกลาง ทั้งนี้ ข้าวบรรจุกระป๋อง ยังได้รับความสนใจจากองค์การสหประชาชาติ ขณะนี้อยู่ระหว่าง การพิจารณาเพื่อบรรจุเข้าโครงการ World Food Programme (WFP) ที่นำอาหารไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติทั่วโลกด้วย
|
|
- ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว และอาหารเช้า ในปัจจุบัน การแปรรูปข้าวเป็นขนมขบเคี้ยว กำลังได้รับ ความนิยมอย่างมาก ทั้งตลาดภายในประเทศ และ ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภค วัยเด็กและวัยรุ่น อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ ค่อนข้างรุนแรง เพราะมีผู้ผลิตมาก นอกจากนี้ ยังมีการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเช้า แม้ว่าจะยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพราะผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์อาหารเช้า มักเป็นธุรกิจข้ามชาต ิที่มีความชำนาญ ในการผลิตจากวัตถุดิบอื่น อาทิ ข้าวโพด ข้าวสาลี มันฝรั่ง
|
|
- ผลิตภัณฑ์จากกระบวนการหมัก ผลิตภัณฑ์ ที่ได้จากการหมักข้าวสาร ได้แก่ ข้าวหมาก ขนมจีน และผลิตภัณฑ์ประเภทสุรา ในบรรดาอุตสาหกรรม ดังกล่าวมีเพียงขนมจีน ที่มีการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชน ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์จาก กระบวนการหมักข้าวสาร ยังสามารถนำไปใช้ เป็นส่วนประกอบ ในการผลิตเบียร์ แต่ยังมีข้อจำกัด ทางด้านคุณภาพ เมื่อเทียบกับการใช้ข้าวบาร์เลย์เป็นวัตถุดิบ
|
 
- เส้นก๋วยเตี๋ยวและเส้นหมี่ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว นอกจากจะใช้บริโภคภายในประเทศแล้ว ยังสามารถส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้ด้วย ตลาดส่งออกสำคัญ คือ มาเลเซีย ญี่ปุ่น ปัจจุบันมีการปรับปรุง รูปแบบผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในรูปกึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น ทั้งในรูป ก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ และก๋วยจั๊บ อีกทั้งมีการพัฒนา โดยเพิ่มส่วนประกอบ และสารอาหารที่มีคุณค่า ทางโภชนาการ เช่น เนื้อสัตว์ และผัก
|
|
- ขนมหวานและขนมไทย ผลิตภัณฑ์ขนมหวาน ที่ได้จากการแปรรูปข้าว ในปัจจุบันยังมีช่องทางขายที่จำกัด เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการผลิต เพื่อบริโภคภายในครัวเรือน และขายในท้องถิ่น เพราะขนมไทยมักเก็บรักษาไม่ได้นาน อีกทั้ง ผู้บริโภคหันไปบริโภคขนมขบเคี้ยว ในตลาดที่มีให้เลือกซื้อ หลายชนิดและสะดวก นอกจากนี้ การผลิตขนมหวานยังมีขั้นตอนยุ่งยาก ไม่มีสูตรการผลิต ที่แน่นอน และมีมูลค่าเพิ่มน้อย ต้องอาศัยการผลิต ในระดับอุตสาหกรรม เพื่อลดต้นทุนต่อหน่วยลง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันได้เริ่มมีการพัฒนา ขนมไทยในรูปแบบของ ผลิตภัณฑ์แช่แข็ง พร้อมบริโภคบ้างแล้ว แม้ว่าจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก
|
|
- ผลิตภัณฑ์น้ำมันรำข้าว รำข้าวสามารถ ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันรำ ซึ่งเป็นน้ำมันที่มี คุณภาพค่อนข้างดี แต่ปัจจุบัน ต้องประสบกับ การแข่งขันกับน้ำมันพืช ที่ใช้วัตถุดิบชนิดอื่น เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม และน้ำมันข้าวโพด
 
|
**ข้อมูลส่วนหนึ่งจากบทความเรื่อง แนวทางการพัฒนาการแปรรูปข้าว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
|
**ที่มา : ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, เมษายน 2543
แหล่งข้อมูล : http://www.foodmarketexchange.com/datacenter/industry/article_th/1_rice/detail_th_43_04.htm

#3 โดย ชิลลี่
เมื่อ 2013-06-13 16:40:33