การวิเคราะห์องค์ประกอบวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง
โพสเมื่อ 2009-10-05 22:50:13 โดย blue6227
การวิเคราะห์องค์ประกอบวรรณคดีจากบทละครนอก
เรื่อง สังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต
เพื่อประกอบรายวิชาภาษาไทยเพื่ออาชีพ 2
คำสำคัญ : การวิเคราะห์องค์ประกอบวรรณคดี, การวิเคราะห์องค์ประกอบภูมิหลังวรรณคดี มยุรี ดวงสุวรรณตำแหน่ง อาจารย์ผู้สอน โรงเรียนภูเก็ตเทคโนโลยี อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต งานวิจัยเสนอต่อโรงเรียนภูเก็ตเทคโนโลยี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายวิชาการ
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ มีความมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์บทละครนอกเรื่อง สังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต ในประเด็นสำคัญ 2 ประเด็นคือ องค์ประกอบวรรณคดี องค์ประกอบภูมิหลัง วรรณคดี เนื่องจากอาจารย์ผู้สอนไม่เข้าใจในเนื้อหาของวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต โดยละเอียด จากสาเหตุดังกล่าวผู้วิจัยได้ศึกษาบทละครนอกเรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับอาจารย์ประกอบการสอนนักเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ผลการวิเคราะห์บทละครนอกเรื่องสังข์ทอง ตอนสังข์ทองหนีนางพันธุรัต ใน 2 ประเด็น คือ องค์ประกอบวรรณคดี องค์ประกอบภูมิหลังวรรณคดี องค์ประกอบวรรณคดี วิเคราะห์ในประเด็นของภาพพจน์ รูปแบบคำประพันธ์ แนวคิด กลวิธีการแต่ง องค์ประกอบ ภูมิหลังวรรณคดี วิเคราะห์ในประเด็นของผู้ประพันธ์ สภาพสังคม วัฒนธรรมผลการวิเคราะห์องค์ประกอบวรรณคดีปรากฏว่าในประเด็นของภาพพจน์ในเรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัตมีการใช้ภาพพจน์ 4 ลักษณะ คือ อุปมา อติพจน์ ปฏิรูปพจน์ ปฏิปุจฉา ในประเด็นของรูปแบบคำประพันธ์ผลจากการวิเคราะห์สามารถจัดหมวดหมู่ของกลอนบทละครตามจำนวนคำได้ 3 ลักษณะคือ การใช้คำขึ้นต้น 2 คำ การใช้คำขึ้นต้น 4 คำ การใช้คำขึ้นต้นที่เป็นกลุ่มคำ ในประเด็นของแนวคิดจากการวิเคราะห์สรุปแนวคิดได้ว่า “ความรักของผู้เป็นแม่ที่มีต่อลูก เป็นความรักที่ยิ่งใหญ่ รักด้วยใจบริสุทธิ์ โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ แม้ชีวิตก็สละเพื่อลูกได้” ในประเด็นของกลวิธีการแต่ง จะปรากฏในโครงเรื่องการลำดับเรื่อง ข้อขัดแย้ง การจบเรื่อง การสร้างตัวละคร การใช้บทสนทนา การสร้างฉากและบรรยากาศ ซึ่งมีความสอดคล้องและมีการเสนอย่างเป็นรูปแบบผลการวิเคราะห์องค์ประกอบภูมิหลังวรรณคดีในประเด็นผู้ประพันธ์ ศึกษาในประเด็นของความรู้ ประสบการณ์และผลงาน จากการวิเคราะห์ไม่มีลักษณะเด่นชัดในตอนนี้ แต่แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดให้มีการแต่งบทละคร ในประเด็นของสังคมได้ศึกษาในเรื่องของการอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาศัยกัน สภาพสังคมในจินตนาการเกี่ยวกับเมืองยักษ์ รวมถึงวิถีชีวิตในการเดินทาง ภาพสังคมที่สะท้อนให้เห็นความเมตตากรุณา ภาพสังคมในด้านการแบ่งชนชั้นและความจงรักภักดี ความเกรงกลัวที่ผู้น้อยมีต่อผู้มีอำนาจและค่านิยมต่าง ๆ เช่น ค่านิยมในเรื่องความกตัญญูกตเวที ค่านิยมในเรื่องการแสดงความเคารพต่อผู้มีพระคุณค่านิยมเกี่ยวกับความเชื่อ ในประเด็นของวัฒนธรรม ผู้เขียนได้สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของการตายและวัฒนธรรมการเล่นจ้องเตความสำคัญและที่มาของปัญหา
วรรณคดีเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญในการแสดงออกซึ่งเอกลักษณ์ของความเป็นไทย เป็นส่วนที่มีความเกี่ยวพันและมีความใกล้ชิดกับชีวิตมนุษย์จนอาจกล่าวได้ว่าวรรณคดีนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ทั้งยังเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งในการศึกษาหาความรู้ในด้านความเป็นไป หรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ ทั้งนี้เพราะเนื้อเรื่องจากวรรณคดี ก็คือการกระทำและพฤติกรรมของมนุษย์ซึ่งกล่าวถึงความชั่ว ความดี ความสมหวัง ความผิดหวัง ความริษยาอาฆาต การแพ้ชนะ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ผสมกลมกลืนอยู่ในชีวิตจริงทั้งสิ้น ผู้ที่ศึกษาหรือผู้ที่สนใจวรรณคดี ควรจะมีความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์วรรณคดี เพราะจะช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจถึงลักษณะของวรรณคดีนั้น ๆ ได้อย่างดี โดยวิธีนี้จะทำให้ผู้ศึกษาเกิดทัศนะที่ดีต่อวรรณคดี ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้สร้างวรรณคดีกับผู้วิเคราะห์ หรือผู้ศึกษาอีกด้วย การศึกษาวรรณคดีโดยทั่วไปเป็นที่ยอมรับกันว่า วรรณคดีของทุกชาติทุกภาษาและในทุกยุคทุกสมัยต่างล้วนเป็นงานสร้างสรรค์ของมนุษย์ และมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือต้องการสื่อสาร ซึ่งอาจจะเป็นความคิด ความเชื่อ ทัศนะ ค่านิยม ประสบการณ์ ฯลฯ ไปสู่ผู้ที่รับสาร ในขณะเดียวกันสิ่งที่ผู้รับสารจะได้รับคือ อารมณ์สะเทือนใจ จินตนาการ ความสนุกสนานเพลิดเพลิน ความคิดหรือแนวคิด การรับผลประโยชน์จากการอ่านจะมากหรือน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับพื้นฐานความรู้ของผู้อ่านรูปแบบและประเภทวรรณคดีเรื่องนั้น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกันเป็นอย่างดี การศึกษาและวิเคราะห์วรรณคดีเป็นเสมือนกระจกเงาที่สะท้อนให้เห็นชีวิตและความเป็นอยู่อันซ่อนเร้นอยู่ภายใน ซึ่งทำให้มีคำกล่าวที่ว่า "วรรณคดีที่สูงเป็นเครื่องขัดเกลาอัธยาศัย และกล่อมอารมณ์ให้หายจากความหมักหมมหมกหมุ่น หนุนจิตใจให้ผ่องแผ้วชื่นบานและร่าเริงใจในชีวิตที่ต้องสาระวนอยู่กับการทำงานอาชีพอันจำเป็น ให้ได้เห็นแง่คิดและความจริงให้กว้างขวาง" ละครนอกเป็นที่นิยมกันมากในสมัยเก่า เนื่องจากเนื้อเรื่องที่ใช้ในการแสดงมีความสนุกสนานเพลิดเพลิน วิธีการดำเนินเรื่องนิยมแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับโหราศาสตร์ อิทธิฤทธิ์ ไสยศาสตร์ และเวทมนตร์คาถาต่าง ๆ ชวนให้คนดูเกิดความตื่นเต้น บทละครนอกเรื่องสังข์ทองที่นำมาวิจัยนี้ เป็นบทละครที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์เป็นหนังสือ 6 เล่ม แบ่งออกเป็น 6 ตอน ดังนี้ ตอนที่ 1 พระสังข์หนีนางพันธุรัต ตอนที่ 2 ท้าวสามลให้นางทั้งเจ็ดเลือกคู่ ตอนที่ 3 พระสังข์ได้นางรจนา ตอนที่ 4 ท้าวสามล ให้ลูกเขยหาเนื้อหาปลา ตอนที่ 5 พระสังข์ตีคลี ตอนที่ 6 ท้าวยศวิมลตามพระสังข์ ทั้ง 6 ตอนนี้มีความสำคัญต่อการศึกษาและเป็นวรรณคดีที่ทรงคุณค่ายิ่ง ในที่นี้ได้นำมาศึกษาวิจัยเพียงตอนที่ 1 คือ พระสังข์หนีนางพันธุรัต ซึ่งเป็นตอนที่ให้ความรู้และข้อคิดต่าง ๆ จากประสบการณ์ด้านการทำงานของผู้วิจัยที่ได้ปฏิบัติหน้าที่สอนมาเป็นระยะเวลา 5 ปี พบว่าอาจารย์ผู้สอนรายวิชาภาษาไทยเพื่ออาชีพ 2 ประสบปัญหาในเรื่องการสอนวรรณคดี กล่าวคืออาจารย์ผู้สอนไม่เข้าใจในเนื้อหาของวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัตโดยละเอียด จากสาเหตุดังกล่าวผู้วิจัยได้ศึกษาบทละครนอกเรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัตในประเด็นของการวิเคราะห์องค์ประกอบเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับอาจารย์ประกอบการสอนนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 1. เอกสารที่เกี่ยวข้องกับวรรณคดี 2. เอกสารที่เกี่ยวข้องกับวรรณคดีบทละคร 3. เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์วรรณคดี 4. เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวรรณคดีบทละครความมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า เพื่อวิเคราะห์บทละครเรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต ในประเด็นต่อไปนี้ 1. องค์ประกอบวรรณคดี 2. องค์ประกอบภูมิหลังวรรณคดีความสำคัญของการศึกษาค้นคว้า
1. เพื่อให้ทราบถึงองค์ประกอบในบทละครนอกเรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับอาจารย์ประกอบการสอนรายวิชาภาษาไทยเพื่ออาชีพ 2 ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ2. เพื่อให้ทราบถึงองค์ประกอบภูมิหลังวรรณคดีในเรื่องเกี่ยวกับผู้ประพันธ์ สภาสังคม และวัฒนธรรม ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับอาจารย์ประกอบการสอนรายวิชาภาษาไทย เพื่ออาชีพ 2 ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ3. เพื่อนำผลการศึกษาวิจัยที่ได้ไปเป็นแนวทางในการวิเคราะห์วรรณคดีเรื่องอื่น ๆ ต่อไป ขอบเขตของการศึกษาค้นคว้า ขอบเขตด้านข้อมูล วรรณคดี เรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต จากหนังสือเรียนวิชาภาษาไทย ชุดพื้นฐานภาษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เล่ม 2 ตามหลักสูตรประถมศึกษาพุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533) กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ตัดตอนมาจากพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 2 ตอนที่ 4 พระสังข์หนีนางพันธุรัต ฉบับกรมศิลปากร พ.ศ. 2530 ขอบเขตด้านเนื้อหา วิเคราะห์วรรณคดีเรื่อง สังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต ในประเด็นต่อไปนี้1. องค์ประกอบวรรณคดี1.1 ภาพพจน์ 1.2 รูปแบบคำประพันธ์1.3 แนวคิดของเรื่อง1.4 กลวิธีการแต่ง2. องค์ประกอบภูมิหลังวรรณคดี 2.1 ผู้ประพันธ์2.2 สภาพสังคม2.3 วัฒนธรรมวิธีดำเนินการวิจัย
การวิเคราะห์องค์ประกอบวรรณคดีจากบทละครนอกเรื่อง สังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต ซึ่งได้ทำการศึกษาทฤษฎีวิเคราะห์วรรณคดีในด้านต่าง ๆ เช่น องค์ประกอบของวรรณคดี วรรณคดีประเภทบทละคร ศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับวรรณคดี วรรณคดีบทละคร การวิเคราะห์วรรณคดีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวรรณคดีบทละคร ศึกษาเรื่องสังข์ทองจากหนังสือเรียนวิชาภาษาไทย ชุดพื้นฐานภาษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เล่ม 2 ตามหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533) กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ตัดตอนมาจากพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 ตอนที่ 4 พระสังข์หนีนางพันธุรัต ฉบับกรมศิลปากร พ.ศ. 2530 ศึกษาเนื้อหาเรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต โดยละเอียด และดำเนินการศึกษาวิเคราะห์วรรณคดีตามทฤษฎีที่ศึกษามา โดยวิเคราะห์ในเรื่องภาพพจน์ รูปแบบคำประพันธ์ แนวคิดของเรื่อง กลวิธีการแต่ง ผู้ประพันธ์ สภาพสังคมและวัฒนธรรมผลการวิจัยและการอภิปรายผล
จากการศึกษาวิเคราะห์วรรณคดีบทละครนอก เรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต ผลจากการดำเนินการศึกษาใน 2 ประเด็น กล่าวคือ การวิเคราะห์องค์ประกอบวรรณคดี และการวิเคราะห์องค์ประกอบภูมิหลังวรรณคดี การวิเคราะห์องค์ประกอบวรรณคดี ซึ่งได้ศึกษาในเรื่องของภาพพจน์ รูปแบบคำประพันธ์ แนวคิดของเรื่อง กลวิธีการแต่ง สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับครูผู้สอนได้เป็นอย่างดีเพราะ ขั้นตอนการวิเคราะห์นั้นจะใช้ตัวอย่างประกอบเพื่อเพิ่มความชัดเจนโดยภาพรวม การวิเคราะห์องค์ประกอบภูมิหลังวรรณคดี ซึ่งได้ศึกษาในเรื่องของผู้ประพันธ์ สภาพสังคม วัฒนธรรม จะมีความสอดคล้องกัน พร้อมทั้งมีความเหมาะสมในการนำไปใช้ประกอบการเรียนวิชาวรรณคดีในระดับชั้นต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี สภาพสังคม วัฒนธรรม จะมีการสะท้อนออกมาในลักษณะที่คล้ายคลึงกับความเป็นจริงในสภาพสังคมวัฒธรรมไทย จะแตกต่างกันตรงจุดที่ผู้เขียนใช้ตัวละครที่ไม่ใช่มนุษย์ธรรมดาเป็นผู้ดำเนินเรื่อง ข้อเสนอแนะ จากการวิเคราะห์วรรณคดีบทละครนอกเรื่อง สังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยต่อไปดังนี้1. ควรจะได้วิเคราะห์วรรณคดีบทละครนอกเรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัต อย่างลึกซึ้งในด้านศิลปะการประพันธ์ในประเด็นของรสคำ รสความ รสวรรณคดี2. ควรจะได้มีการวิเคราะห์วรรณคดีบทละครนอกเรื่องสังข์ทองในตอนอื่น ๆ เพื่อเป็นคู่มือ สำหรับอาจารย์ผู้สอนวรรณคดี
http://board.postjung.com/874714.html
#14 โดย นาคเฝ้าคัมภีร์
เมื่อ 2015-06-19 16:04:39